top of page

ต้นกล้า โรงเรียนสองภาษา?


สวัสดีค่ะ วันนี้บล๊อกครูทางเลือกจะขอพูดถึงประเด็นที่หลายๆ คนถามมาว่าต้นกล้าเป็นโรงเรียนสองภาษาหรือเปล่า? ถ้าให้เราตอบในฐานะคนที่ทำงานกับโรงเรียนและเห็นกระบวนการเรียนการสอนรวมทั้งผลลัพท์ที่เกิดกับนักเรียน...คำตอบของเราคือ "เป็นมากกว่าโรงเรียนสองภาษา" ค่ะ คือไม่ได้หมายความว่าเป็นโรงเรียน 3-4 ภาษานะคะ แต่ในความหมายของเราคือเป็น "โรงเรียนทางเลือก(ที่สอนสองภาษาด้วย)" นั่นเองค่ะ

ตัวชี้วัดอย่างผลสอบ O-NET (ที่คนทั่วไปให้ความสำคัญ แต่ดูเหมือนโรงเรียนจะไม่ได้พูดถึงมาก แต่เราขออนุญาตเอามาเผยแพร่ในนี้) คือคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ป.6 ของโรงเรียนปีล่าสุดที่ออกมาสูงจนเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่น

ข้อมูลนี้ทำให้หลายคนแปลกใจเพราะขัดกับภาพที่เห็นว่าเด็กที่นี่เรียนรู้ผ่านการเล่น เน้นทำกิจกรรม เหมือนจะไม่คร่ำเคร่ง แต่ทำไมผลสอบกลับออกมาได้คะแนนสูง? เราขอยกตัวอย่างจากการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ก็ได้ค่ะ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่เรียกได้ว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุด เด็กมีคะแนนสอบอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในขณะเดียวกันเด็กกลับมีชั่วโมงเรียนน้อย ใช้เวลาในการเล่นเยอะ มีการบ้านหรือการสอบที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กในประเทศอื่นๆ

ดังนั้น จะเรียกว่า โรงเรียนต้นกล้า จัดการศึกษาคล้ายกับประเทศฟินแลนด์ก็ว่าได้ค่ะ เป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน ไม่ยัดเยียด และเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้

พูดถึงผลสอบ O-NET นี้ เป็นข้อมูลที่ถูกนำเสนอในการประชุมผู้ปกครองที่เราได้เข้าไปร่วมฟังด้วย ในขณะที่นั่งฟังเราเกิดคำถามในใจว่า... ทำไมโรงเรียนจึงไม่ประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้ให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ด้วย? เพราะในความคิดของเราคือ...เด็กสอบได้คะแนนดีขนาดนี้ ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะเอาขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียนแล้ว แต่ถ้ามองตามแนวทางของโรงเรียนก็พอจะเข้าใจได้ว่า... ที่เขาไม่ได้เน้นการนำเสนอตรงนี้มาก เพราะเขาให้น้ำหนักกับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้การสอบเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางของโรงเรียนทางเลือกทั่วไป ที่มักใช้เกณฑ์ในการประเมินผลเด็กหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่การประเมินจากการสอบอย่างเดียว

ลองมาดูในรายละเอียดกันบ้างว่าจริงๆ แล้วแนวทางการศึกษาแบบนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษของที่นี่ว่าเขาเรียนกันอย่างไร?

อย่างที่รู้กันว่าโรงเรียนทางเลือก เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมเยอะ ซึ่งแต่ละกิจกรรมก็จะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กๆ ทั้งกิจกรรมในห้องเรียน นอกห้องเรียน กิจกรรมภาคสนาม รวมถึงกิจกรรมพิเศษที่โรงเรียนจัดขึ้น เช่น วัน English Day ที่เด็กๆ ต่างรอคอยในทุกๆ เทอมเพราะจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานอย่างการแต่งชุดแฟนซี หรือเกมภาษาอังกฤษต่างๆ ซึ่งมันทำให้เด็กชอบที่จะเรียนวิชาภาษาอังกฤษและกระตือรือร้นที่จะเรียน

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่เครียดนั่นก็คือการเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ (Whole Language) ซึ่งจะไม่เน้นการท่องจำ เพราะคำนึงถึงความยั่งยืน มากกว่าการเรียนเพื่อให้สอบผ่าน

หลายๆ ครั้งที่เราเห็นความล้มเหลวของการเรียนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ ที่เด็กต้องอ่านตำราเล่มหนาๆ ท่องแกรมม่า ท่องโครงสร้าง tense ต่างๆ ให้แม่นยำเพื่อไปสอบให้ได้คะแนนสูงๆ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติ เด็กส่วนใหญ่กลับฟังหรือพูดไม่ออก หรือตอบได้แค่ประโยคที่จำมาเท่านั้น บางคนอาจจะไม่กล้าพูดเพราะกลัวพูดผิด และเด็กบางคนที่เรียนไม่ไหวก็จะไม่ชอบหรือปฏิเสธวิชาภาษาอังกฤษไปเลย

แต่การเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนต้นกล้าจะเหมือนการที่เด็กเรียนรู้ภาษาจากแม่ คือ เริ่มต้นจากการฟัง การพูดตาม คิดสร้างคำพูดของตนเอง แล้วจึงอ่านและเขียนตามลำดับ ทำให้เด็กสามารถสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องท่องจำ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต

มีการใช้หลัก Jolly Phonics มาช่วยในการอ่านออกเสียง และสะกดคำ โดยเด็กจะได้เรียนรูปอักษร ควบคู่ไปกับเสียงของอักษรนั้นๆ แทนการท่องชื่อตัวอักษร ซึ่งทำให้เด็กสามารถอ่านและเขียนคำศัพท์ใหม่ๆ ได้แม้ในคำที่ไม่รู้จัก

เรามาพูดถึงหลักสูตรของที่นี่กันบ้าง เนื่องจากโรงเรียนต้นกล้าเริ่มใช้หลักสูตร IEP หรือ Integrated English Program ในปีการศึกษา 2559 เป็นต้นมา จึงอาจเป็นเรื่องที่หลายๆ คนยังไม่รู้รายละเอียด เรามาทำความรู้จักหลักสูตร IEP ที่ว่านี้กันค่ะว่าเป็นอย่างไร?

หลักสูตร IEP ของโรงเรียนต้นกล้าได้ใช้มาตรฐานในการจัดระดับหลักสูตรของ CEFR หรือ Common European Framework of Reference for Languages ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก และถูกนำมาใช้ในหลายๆ สถาบัน รวมทั้งใช้ในการกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยด้วย

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักเรียนที่จบชั้น ป.6 จะอยู่ในระดับ A1 ส่วนนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จะอยู่ในระดับ A2 แต่หลักสูตร IEP ที่โรงเรียนต้นกล้านักเรียนชั้น ป.6 จะเรียนเนื้อหาในระดับ A2 กันแล้ว

สรุปก็คือ เด็กที่จบ ป.6 จากต้นกล้าจะมีความสามารถทางภาษาเทียบเท่ากับเด็กที่จบ ม.3 โรงเรียนทั่วไปนั่นเอง และยังหมายถึงโรงเรียนต้นกล้าจัดการศึกษาในวิชาภาษาอังกฤษมากกว่ามาตราฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

ในขณะที่บางโรงเรียนใช้หลักสูตร EP (English Program) แต่โรงเรียนต้นกล้าเลือกใช้หลักสูตร IEP (Integrated English Program) หลายคนสงสัยว่าแล้ว 2 หลักสูตรที่ว่านี้แตกต่างกันอย่างไร?

เริ่มแรกเลยคือชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษต่อสัปดาห์แทบจะไม่ต่างกัน เพราะ IEP ก็เรียน 18 คาบต่อสัปดาห์ เทียบเท่ากับหลักสูตร EP ที่ถูกกำหนดไว้ตามกฏของกระทรวงศึกษาธิการว่า EP ต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างน้อย 18 คาบต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ที่โรงเรียนต้นกล้า ชั้นประถมทุกห้องจะมีครูประจำชั้นเป็นชาวต่างชาติ และมีครูไทยเป็นผู้ช่วย เพื่อเป็นการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษ

หลักสูตร IEP ของต้นกล้าจะสอนเป็นภาษาอังกฤษในหลายๆ วิชาที่สามารถบูรณาการเข้ากับภาษาอังกฤษได้ แต่บางวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจในเชิงลึกก็จะสอนเป็นภาษาไทย เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ส่วนหลักสูตร EP จะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

สาเหตุที่หลักสูตร IEP ไม่สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด คงไม่ใช่เพราะครูฝรั่งไม่พอ แต่เป็นเพราะว่าโดยสภาพแวดล้อมของนักเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก เช่น เด็กที่ยังคิดเป็นภาษาไทย พูดไทยเมื่อเล่นนอกห้องเรียนกับเพื่อน หรือตอนอยู่ที่บ้าน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง การสอนเป็นภาษาไทยจึงทำให้เด็กสามารถเข้าใจในเนื้อหาได้ดีกว่าสำหรับวิชาที่ต้องอาศัยตรรกะและความเข้าใจในเชิงลึก

อันนี้เราว่าก็สมเหตุสมผล เพราะวิชาเหล่านี้แค่เรียนเป็นภาษาไทยก็ยังต้องทำความเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว ถ้าให้ดันทุรังเรียนเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กในโรงเรียนไทย (ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนนานาชาติ) อาจจะยังไม่เหมาะ และแทนที่เด็กจะได้รับความรู้ อาจจะกลายเป็นได้แค่คำศัพท์แต่ไม่เข้าใจในแก่นของเนื้อหา ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น เพราะเป็นวิชาที่สำคัญและเป็นรากฐานของการพัฒนาความรู้ในวิชาอื่นๆ อีกด้วย

อีกเหตุผลหนึ่ง เราคิดว่าครูฝรั่งที่มาสอนในโรงเรียนไทยเป็นเจ้าของภาษาก็จริง ซึ่งดีมากๆ ต่อการทำให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าครูฝรั่งทุกคนจะมีทักษะในการถ่ายทอด หรือมีความรู้เชิงลึกในบางรายวิชา อย่างเช่น วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ดังนั้น ถ้าให้เลือกครูที่จะสอนวิชาเหล่านี้ได้ดีก็น่าจะเป็นครูไทยที่จบทางด้านนี้โดยตรงน่าจะดีกว่า โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนต้นกล้าใช้วิธีการสอนแบบ Open Approach ซึ่งครูต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีนี้ในระดับหนึ่ง

เมื่อเด็กได้เรียนแบบนี้เราก็สบายใจได้ว่าเด็กจะเก่งทั้งภาษา แล้วยังมีพื้นฐานทางวิชาการที่แน่นพอที่จะไปต่อยอดการเรียนในอนาคตของเขาได้

นอกจากการเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแล้ว เด็กๆ ต้นกล้าจะได้รับแอ๊คเคาท์สำหรับเรียนเสริมด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Raz Kids ซึ่งเป็นโปรแกรมที่โรงเรียนนานาชาติใช้

การเรียนผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเองที่บ้านของเด็กๆ ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอีกข้อหนึ่งสำหรับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เด็กจึงควรมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองติดตัวเพื่อเป็นเครื่องมือในการหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแต่รอให้ครูมาป้อนความรู้ให้

จากที่เขียนมาทั้งหมดนอกจากจะทำให้เราได้เข้าใจหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนต้นกล้ามากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพของโรงเรียนทางเลือกชัดเจนขึ้นว่าเป็นอย่างไร... การที่เราเห็นว่าเด็กเรียนๆ เล่นๆ นั้น แท้จริงแล้วเขากำลังพอกพูนความรู้ พัฒนาวิธีคิด ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เขาได้ทำ โดยรู้สึกสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับคำกล่าวของนายแพทย์ปริทรรศ ศิลปกิจ ที่ว่า “ นักวิทยาศาตร์ยืนยันว่าสมองทำงานได้ดีที่สุดตอนที่คนเรามีความสุข” นั่นเอง

และยังได้เห็นภาพของการจัดการศึกษาที่เตรียมความพร้อมให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีศักยภาพ พร้อมที่จะเป็นประชากรในยุคศตวรรษหน้า ตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า “จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ในระดับสากล และความสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่าและมีความสุข”

สุดท้ายนี้เรามาลองดูผลของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีความสุขของเด็กๆ กันค่ะ ส่วนใหญ่เด็กไม่ได้เรียนเสริมข้างนอก เพราะเรียนที่โรงเรียนก็เพียงพอแล้ว คลิปนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ถ้าหากผู้ปกครองสนใจดูคลิปอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ Youtube ของโรงเรียนต้นกล้านะคะ

Blogger Mayko

อ่านบล๊อกก่อนหน้านี้ >>> การเรียนคณิตศาสตร์แบบ Open Approach

bottom of page