top of page

ความสุขที่ยั่งยืน


ชีวิตดี๊ดีของเด็กโรงเรียนต้นกล้า... มีความสุข แต่ไม่มีความอดทน จริงหรือ?? มาดูกันว่าภายใต้รอยยิ้มและความสุขของเด็กๆ เหล่านี้ พวกเขาทำอะไรกันบ้างในโรงเรียนต้นกล้า...

(บล๊อกนี้ไม่มีการบอกบท เราเขียนจากสิ่งที่เราเห็นในฐานะที่ได้มาทำงานกับโรงเรียน บางตอนอาจสอดแทรกความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนะคะ)

เมื่อพูดถึงโรงเรียนต้นกล้า เราจะนึกถึงสโลแกน “บ่มเพาะจินตนาการและความสุข” โดยเฉพาะคอนเซ็ปท์ของกีฬาสีปีนี้ที่ว่า “MINISTRY OF HAPPINESS” ซึ่งถูกให้ความหมายว่า... "พันธกิจเพื่อความสุข" เป็นการเน้นย้ำในจุดยืนของโรงเรียน

ในขณะเดียวกันคำว่า "ความสุข" ก็อาจสร้างความเข้าใจผิดในบางประเด็นต่อผู้ที่ยังไม่ได้สัมผัสกับโรงเรียนอย่างลึกซึ้ง

อีกด้านหนึ่ง... ความสงสัยและคำถามที่เกิดขึ้นภายใต้ภาพแห่งความสุขอย่างสุดเหวี่ยงของเด็กๆ คือ...เด็กจะมีความอดทน ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ และมีระเบียบวินัยได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนมอบแต่ความสุขให้ เช่น การบูรณาการสาระวิชา ที่ทำให้เด็กมีวิชาเรียนน้อยลง ไม่ต้องเรียนหลายๆ วิชาเหมือนโรงเรียนอื่น แถมเด็กเล็กก็ยังเรียนผ่านการเล่น!!! ...สนุกไปอีกกก

บางคนยังเป็นห่วงว่าเด็กจะไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อต้องพบกับเรื่องที่ยากลำบากในอนาคตเพราะชีวิตจริงคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนในโรงเรียน แต่ๆๆๆๆๆ... ลองอ่านต่อสักนิดนะคะ แล้วจะพบว่าความเป็นจริงนั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง...

หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วในทุกๆ วัน เด็กๆ ต้นกล้าถูกปลูกฝังความมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเราจะเล่าให้เห็นภาพต่อไป (ว่าเคร่งครัดจริงๆ)

ฟังดูยังไงก็ขัดแย้งกัน เพราะ ”การมีระเบียบวินัย” น่าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากและไม่น่าจะสร้างความสุขได้

ส่วนใหญ่เรามักคิดว่า นิยามของความสุข คือ “การได้ทำตามใจตัวเอง หรือการมีชีวิตที่อิสระเสรี มีแต่ความสะดวกสบาย ทำแต่เรื่องง่ายๆ ไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องยากๆ” … จริงอยู่ที่สิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างความสุข แต่ไม่ได้เป็นความสุขที่ยั่งยืน เพราะถ้าทำแบบนั้น (ตามใจตัวเอง ไม่รับผิดชอบในหน้าที่) ยังไงก็หนีไม่พ้นความทุกข์ที่จะตามมาอยู่ดี

ณ จุดนี้จึงเป็นเหตุให้ “การมีวินัย” กลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข...

เว็บไซต์ Time ได้ลงบทความที่พูดถึงงานวิจัยที่ว่า “คนที่มีวินัยสูงจะมีความสุขมากกว่าคนที่ขาดวินัย” "Why Self-Disciplined People Are Happier?"

คล้ายกับแนวคิดที่ว่า With freedom, comes responsibility. ยิ่งมีอิสระก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบ... ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมือนจะสวนทางกัน เพราะเรามักคิดว่า ความอิสระคือการไม่ต้องรับผิดชอบ...นั่นเอง

ยังมีอีกหลายแนวคิดที่ทำให้เราเห็นว่า “สิ่งที่สวนทางกันกลับกลายเป็นเรื่องเดียวกัน” เหมือนตัวอย่างในสารคดี Where to Invade Next ที่สะท้อนให้เราเห็นความจริงจากหลายมุมโลกที่ว่า...

- ประเทศที่นักเรียนมีชั่วโมงเรียนน้อยที่สุดอย่างฟินแลนด์กลับสร้างนักเรียนที่เก่งที่สุดในโลก

- ประเทศที่มีกฏหมายให้คนหยุดงานได้หลายวันอย่างอิตตาลี่ และบริษัทที่ให้วันหยุดกับพนักงานมากๆ กลับสร้างผลผลิตได้มากขึ้น...

- ประเทศที่มีเรือนจำที่สะดวกสบาย สะอาด น่าอยู่ อย่างนอร์เวย์ กลับมีปริมาณนักโทษที่ลดลง

- ประเทศที่เปิดให้การใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องถูกกฏหมายและหาซื้อได้ง่ายๆ ในราคาถูกอย่างโปรตุเกส กลับทำให้ปริมาณผู้เสพย์ยามีลดน้อยลงอย่างมาก

เรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้บอกกับเราว่า... บางทีสิ่งที่เราทำตามๆ กันมาโดยขาดความเข้าใจในแก่นของมันและคิดว่ามันเป็นวิธีที่ถูก มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้นะคะ บางทีเราอาจจะติดอยู่ในกรอบที่ทำให้เราหลงทางกันอยู่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน วิธีเก่าๆ อาจจะใช้ไม่ได้ผลแล้วในยุคนี้

มาดูที่โรงเรียนต้นกล้ากันบ้าง... เด็กๆ ได้รับการกวดขันความมีระเบียบวินัย และคุณลักษณะนิสัยที่ดีอยู่เสมอ บางครั้งอาจจะต้องพบเจอกับเรื่องยากลำบากแต่เด็กๆ ก็มีความสุขกันมากๆ เพราะอะไร...?

คำตอบคือ... การอบรมให้เด็กมีวินัยนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจของครูที่ข่มขู่ให้เด็กกลัวแล้วอยู่ในโอวาท ไม่สร้างปัญหา โดยถือว่าครูอยู่เหนือกว่าเด็กจึงควบคุมเด็กได้... แต่เกิดจาก “ความรัก” ของครูที่ต้องการให้เด็กมีคุณลักษณะที่ดีติดตัวไป

แม้จะเป็นโรงเรียนทางเลือกที่บางวันยังไม่ต้องแต่งชุดนักเรียนมาด้วยซ้ำ อยากใส่ชุดไหน ทำผมทรงไหนก็ได้ เหมือนจะง่ายๆ แต่ความจริงแล้วไม่ง่าย เพราะโรงเรียนก็มีกฏระเบียบที่นักเรียนต้องเคารพ เพื่อสร้างสังคมแห่งความสุข (ไม่ได้สร้างเพียงความสุขของปัจเจกบุคคลเท่านั้น)

เด็กๆ ต้องรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น การทำความสะอาดโรงอาหารและการล้างจานเองหลังจากทานอาหาร

แม้แต่เด็กอนุบาลก็จะถูกสอนให้เก็บของเข้าที่ให้เรียบร้อยด้วยตัวเอง การเตรียมที่นอนด้วยตัวเอง และการช่วยเหลือตนเองในเรื่องอื่นๆ

นอกจากรับผิดชอบต่อตนเองแล้วยังต้องรับผิดชอบเรื่องส่วนรวมเช่น การพับกล่องนมก่อนทิ้งลงถังเพื่อลดปริมาณขยะรวมถึงการแยกขยะ และในขณะที่นั่งดื่มนมหรือทานอาหารก็จะนั่งอย่างเป็นระเบียบ ไม่ยุกยิกและไม่เล่นกัน

การเก็บกวาดทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชั้นเรียน หรือกิจกรรมของโรงเรียน โดยไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของภารโรง... อันที่จริงโรงเรียนนี้ไม่มีภารโรงเพราะเด็กรับผิดชอบกันเองทั้งหมด

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ หลังจากงานกีฬาสีหรืองานอื่นๆ เลิกทุกๆปี เด็กๆ ครู และผู้ปกครองจะช่วยกันเก็บกวาดจนไม่เหลือขยะให้เห็นเลย ต่างจากงานกีฬาสีทุกโรงเรียนที่เราเคยพบเจอที่มักจะมีเศษขยะอยู่เกลื่อนให้ภารโรงมาคอยเก็บ เพราะความเชื่อที่ว่า “เด็กมีหน้าที่เรียน” “ภารโรงมีหน้าที่ทำความสะอาด”

ในเรื่องของ "การเป็นผู้ฟังที่ดี"... เมื่อมีใครพูดอยู่ เด็กจะถูกสอนให้ตั้งใจฟังอย่างมีมารยาทและไม่พูดแทรก เมื่อมีคำถามจึงยกมือเมื่อผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม (ซึ่งก็มักจะมีเด็กหลายๆ คนยกมือทุกครั้ง)

การใช้ "ระฆังแห่งสติ" ในห้องประชุมที่เต็มไปด้วยเด็กทั้งโรงเรียนซึ่งปกติแล้วจะต้องมีเสียงพูดคุยกันเซ็งแซ่ แต่เพียงแค่ครูเชิญระฆังเท่านั้น เสียงระฆังที่ก้องกังวาลก็เรียกสติของเด็กทั้งโรงเรียนให้กลับมาเงียบกริบกันทุกคน และกลายเป็นบรรยากาศที่เงียบสงบอย่างน่าทึ่ง

และคำว่า “เคร่งครัด” ที่เราเขียนถึงก็คือการแสดงความ "ชัดเจน" ให้เด็กสามารถแยกแยะว่าเวลาไหนเด็กควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เช่น เวลานี้ควรฟัง เวลานี้ถามได้ เวลานี้เล่นได้ เป็นต้น เมื่อเด็กรู้อย่างชัดเจนแล้วก็จะไม่เกิดความสับสนหรือหวั่นเกรง จนพาลทำให้เด็กไม่กล้าทำอะไรเลย

ความสุขจึงเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้เวลา รู้หน้าที่ และเมื่อรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองได้ดีแล้วก็จะไม่มีใครว่าอะไร

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วยังมีระเบียบวินัยอีกมากมายที่เกิดขึ้นในโรงเรียน

เพราะอีกสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนเชื่อว่าจะนำพาเด็กๆ ไปสู่ความสุขและความสำเร็จในชีวิตนั่นก็คือ “ความอดทน” ดังนั้น ความยากลำบากต่างๆ ที่เด็กๆ ได้พบจะฝึกให้เด็กมีความอดทนเมื่อต้องทำเรื่องยากๆ ต่อไปในอนาคต

(ตัวอักษรภาษาจีนบนตึกประถมมีความหมายว่า “อดทน”)

นอกจากความอดทนและการมีระเบียบวินัยแล้ว การเคารพตนเองก็สำคัญไม่แพ้การเคารพผู้อื่น การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและการส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นรากฐานของชีวิตที่มีความสุข เราไม่อยากเห็นคนต้องทนเป็นหมอทั้งๆ ที่ไม่ได้รักในอาชีพ แต่เป็นหมอเพียงเพราะว่าเรียนเก่ง (แล้วไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร)

เด็กโรงเรียนนี้จึงมีอิสระทางความคิดเพราะครูมักฝึกให้เด็กคิดเองโดยไม่ชี้นำ เพียงแต่คอยให้คำแนะนำ และจะเน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติมากกว่านั่งฟังครูสอน เพื่อที่ว่านอกจากจะทำให้เด็กทำงานเป็นแล้ว ยังจะทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเองที่สามารถรับผิดชอบงานจนสำเร็จด้วยตนเองได้

อย่างที่บอกว่าความรักจากครูเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การกวดขันในความมีวินัยไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เราพบว่าที่โรงเรียนนี้เด็กๆ ไม่กลัวครู แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพครู เวลาคุยกับครู เด็กจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา พูดเสียงดังฟังชัด แต่ไม่ได้ฟังดูก้าวร้าวเลย

นอกจากความรักจากครูแล้ว การมอบความรักให้แก่เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กๆ ถูกปลูกฝังอยู่เสมอ ภาพของการมีน้ำใจให้แก่กัน การดูแลกัน แม้จะไม่ใช่เพื่อนร่วมชั้น จึงมีให้เราเห็นได้อยู่เรื่อยๆ

(กิจกรรมหล่อเทียนพรรษาที่พี่ประถมจะมาช่วยดูแลน้องอนุบาลทุกปี)

ภาพต่อไปนี้เป็นภาพที่ครูบังเอิญเห็นแล้วถ่ายมาค่ะ

(พี่ประถมช่วยอุ้มน้องอนุบาลล้างมือโดยที่เด็กไม่รู้จักกัน)

(เด็กอนุบาลช่วยเพื่อนแต่งตัวโดยที่คุณครูไม่ได้บอก)

(รุ่นพี่ช่วยรุ่นน้องผูกเชือกรองเท้าที่หน้าโรงเรียน)

(รุ่นน้องแบ่งขนมให้รุ่นพี่ทานในเวลาพัก)

ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่าในโรงเรียนต้นกล้า เด็กๆ มีน้ำใจให้กัน ดูแลกัน โดยไม่ได้ยึดติดกับการแบ่งแยกกลุ่มตามห้อง ตามชั้นเรียน แต่ทุกคนเป็นเพื่อนและพี่น้องร่วมโรงเรียนที่คอยช่วยเหลือกันจนเป็นเรื่องปกติของสังคมต้นกล้า

สุดท้ายนี้...เมื่อทุกคนเคารพกฏกติกา เคารพตนเองและผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม มีความรัก ความเอื้ออาทรให้แก่กัน สังคมก็จะเป็นสังคมแห่งความสุข ที่จะช่วยสร้างผู้คนในสังคมนั้นให้เป็นคนที่มีความสุข

และคนที่มีความสุขจากภายใน...อยู่ที่ไหนก็จะมีแต่ความสุขและยังสามารถสร้างความสุขให้กับคนรอบข้างอีกด้วยค่ะ

Blogger Mayko

bottom of page