top of page

ทำไมต้องเรียนผ่านการเล่น?


หากใครสักคนจะมาเล่าประสบการณ์ในโรงเรียนทางเลือกให้คนนอกได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งนั้น ถ้าไม่ใช่เด็กในโรงเรียนก็คงต้องเป็นครูที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนนั้นถึงจะเล่าให้ได้เห็นภาพแบบคลุกวงใน... ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล๊อก "ครูทางเลือก" ของเรานะคะ หัวข้อนี้เป็นเรื่องแรกที่จะมาแชร์ประสบการณ์ที่เราได้ทำงานในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งค่ะ บอกก่อนว่าบล๊อกนี้ไม่เน้นหลักวิชาการหรืออ้างอิงหลักคิดทฤษฎีต่างๆ นะคะ เป็นเพียงประสบการณ์ทำงานในมุมมองของครูคนหนึ่งที่ถ่ายทอดเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายและหวังว่าผู้อ่านจะสนุกไปด้วยกันค่ะ

ย้อนกลับไปในช่วงแรกที่เราได้เริ่มทำงานให้กับโรงเรียนต้นกล้าในบทบาทของนักสื่อสารออนไลน์ ในช่วงนั้นการ "เรียนรู้ผ่านการเล่น" ยังเป็นเรื่องใหม่ที่หลายๆ คนยังไม่คุ้นเคย รวมถึงตัวเราเองด้วย ทางโรงเรียนได้มอบโจทย์ให้เราช่วยคิดหาทางปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ปกครองและบุคคลทั่วไปที่มักเข้าใจผิดว่า... "โรงเรียนนี้เน้นให้เด็กเล่นแต่ไม่เน้นวิชาการ" โดยส่วนตัวเราก็เคยได้รับฟังเสียงสะท้อนทำนองนี้มาก่อน เช่น "จะให้ไปเล่นที่โรงเรียนทำไม ในเมื่อตอนอยู่บ้านเด็กก็ได้เล่นอยู่แล้ว ไปโรงเรียนก็ต้องเน้นการเรียนสิ ไม่ใช่เน้นการเล่น" บ้างก็บอกว่า "ให้ลูกเรียนที่นี่ตอนเล็กๆ ดีกว่า จะได้ให้เค้าได้เล่นไปก่อน แต่พอโตขึ้นต้องย้ายโรงเรียน ไม่งั้นจะเรียนไม่ทันเด็กโรงเรียนอื่น" อันนี้ได้ยินบ่อยมาก

แต่พอเราได้มารับรู้ในมุมมองของโรงเรียน กลับกลายเป็นว่า... ความคิดเหล่านั้นมันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก เพราะสิ่งที่ได้เห็นคือ "การเล่น" ของเด็กๆ ที่โรงเรียนนั้น ไม่ใช่การเล่นแบบที่เราหรือคนทั่วไปคิด เด็กไม่ได้เล่นไปเรื่อยเปื่อยตามความอยากของเขา ไม่ใช่ว่าตอนเช้ามาถึงโรงเรียนครูปล่อยให้เล่นโน่นเล่นนี่ไปเรื่อยๆ กลางวันทานข้าว บ่ายนอน ตื่นมาก็ดื่มนม เปียผม กลับบ้าน มันไม่ใช่แบบนั้นเลยยยยยย และครูก็ไม่ได้สบายอย่างที่เราคิด!!!

เพราะความจริงคือ "การเล่น" ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสอน เปรียบเสมือนสื่อการสอน ที่เด็กจะได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาต่างๆ ผ่านกิจกรรมการเล่นที่ครูได้ออกแบบไว้ด้วยความใส่ใจ (ไม่ได้เว่อร์นะ แต่เห็นแล้วรู้สึกว่าครูใส่ใจจริงๆ)

ครั้งแรกที่เราได้เข้าไปในห้องเรียนเด็กอนุบาลเพื่อสังเกตการสอน บันทึกภาพ เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์โรงเรียน ได้ดูการเรียนการสอนตลอดทั้งคาบ รู้สึกประทับใจมาก และความคิดที่เกิดขึ้นคือ... "คุณครูเขาทุ่มเทเนาะ" อย่างที่บอกว่าการเรียนแบบนี้ครูไม่ได้สบายเลย กลับกลายเป็นว่าครูต้องทำงานหนักขึ้นด้วยซ้ำ เพราะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียน รวมไปถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น ของเล่นต่างๆ ที่สอดคล้องกับบทเรียนในแต่ละวิชาที่จะสอน และต้องดึงดูดความสนใจของเด็กมากพอ แล้วกิจกรรมในแต่ละครั้งก็ไม่ควรซ้ำกันอีกด้วย เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ ...เรารู้สึกว่าการเชื่อมโยงของ 2 สิ่งที่เรียกว่า "วิชาการ" และ "ความสนุก" ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะว่าไปมันยากกว่าการสอนแบบทั่วไปเสียอีกนะ

ภาพข้างบนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มองเผินๆ อาจจะคิดว่าเด็กๆ เล่นสนุกอะไรกัน แต่ที่แท้แล้วเป็นการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล เรื่องตารางแนวตั้ง แนวนอน และการเรียกชื่อเซลล์ในตาราง โดยการให้เด็กจัดแถวตารางตามที่ครูบอกแล้วเข้าไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ที่กำหนด แล้วครูจึงสรุปบทเรียนบนกระดาน แทนการสอนแบบเดิมที่ให้เด็กเขียนตารางและนับช่องบนสมุด มันดูเหมือนจะยุ่งยากสำหรับครู แต่สำหรับเด็กๆ (ปฐมวัย) เขาชอบการเรียนวิธีนี้กันมากๆ สังเกตุได้จากแววตาที่เป็นประกาย... คือเด็กตั้งใจเรียนกันมากกกกก

เด็กๆ สนุกสนานกับการเล่นกันอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน สมองก็ถูกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ในวิชานั้นๆ โดยไม่รู้ตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จนประกอบเป็นองค์ความรู้เกิดขึ้นในตัวเขาโดยไม่ถูกยัดเยียด ที่สำคัญเด็กจะเข้าใจบทเรียนได้อย่างลึกซึ้ง และจดจำได้ดีเพราะเขามีความสุขและสนุกกับมัน

เราพบว่าการเรียนแบบนี้สนุกสนาน เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก แต่ไม่ได้ทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่อดทนจากการที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝน เช่น การนั่งคัด นั่งท่อง เพราะในส่วนของการฝึกให้เด็กมีความเพียรนั้นจะถูกสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เด็กจะได้รับการฝึกฝนความเพียรพยายามในเรื่องอื่นๆ แต่สำหรับเรื่องเรียนนั้น เด็กต้องมีความสุขกับมันก่อน จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่ดี

เมื่อย้อนนึกถึงสมัยที่เราเป็นเด็กในโรงเรียน ... จะมีครูยืนอยู่หน้าห้อง กางหนังสือ ถือชอล์ค เขียนกระดาน ส่วนนักเรียนก็นั่งฟังตาปริบๆ แทบไม่ได้ขยับตัวไปไหน อยากลุกไปเข้าห้องน้ำยังแทบไม่กล้ายกมือขออนุญาตครูเลย กลัวไปหมด (ไม่รู้กลัวอะไรนักหนา) หรือแม้บางครั้งการเรียนมันก็น่าเบื่อจนทำให้เราง่วง ครูบอกให้คัดก็คัด ครูบอกให้ท่องก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง นึกแล้วก็อิจฉา ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงได้เรียนสนุกแบบนี้นะ ทั้งๆ ที่บทเรียนก็เรื่องเดียวกัน ภาษาไทย คณิตศาสตร์ การสะกดคำ การบวก ลบ เลข แถมบางทีเด็กเดี๋ยวนี้ได้เรียนล้ำหน้าไปมากกว่าที่เราเรียนด้วยซ้ำถ้าเทียบตอนช่วงอายุเดียวกัน เพราะสมองของเค้าเปิดรับมากกว่าจากการที่เรียนสนุก เห็นมีวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นอนุบาลด้วยนะ สมัยเราเรียนแค่ไม่กี่เรื่องสมองก็ล้าแล้ว ยัดอะไรได้ไม่มาก มันอยากออกไปวิ่งเล่นมากกว่า

​ภาพที่เห็นในห้องเรียนส่วนใหญ่จึงเป็นภาพที่เด็กทุกคนตั้งใจเรียน แย่งกันยกมือเพื่อให้ตนเองได้ร่วมกิจกรรม ถามตอบ และแสดงความคิดเห็น เรียกได้ว่าแย่งกันเรียนเลยทีเดียว ภาพแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสมัยที่เราเรียน ไม่ใช่สิ...ความจริงเคยเกิดขึ้นในวิชาหนึ่งที่ครูดุมากๆ เดาว่าคุณครูจบมาจากเมืองนอก เวลาเข้ามาสอนวิชาภาษาอังกฤษ ก็คงอยากให้นักเรียนยกมือตอบคำถามแบบเด็กฝรั่งบ้าง ซึ่งคาบนั้นจำได้ว่าแย่งกันยกมือมาก เพราะครูตั้งเงื่อนไขว่าถ้าคนไหนไม่ยกมือ จะให้คนนั้นตอบ!!! นี่เป็นวิชาเดียวจริงๆ ที่ในห้องเรียนเราแย่งกันยกมือ 555

กลับมาที่ภารกิจของเรา... หลังจากที่ได้สัมผัสกับคำว่า "เรียนรู้ผ่านการเล่น" ว่าแท้จริงแล้วเป็นยังไง เราก็กลับมานั่งคิดนอนคิดว่าแล้วจะทำยังไงให้ผู้ปกครองหรือบุคคลทั่วไปไม่เข้าใจผิดว่าโรงเรียนเน้นแต่การเล่น ไม่เน้นวิชาการ เพราะจริงๆ แล้วเค้าเน้นวิชาการนะ ไม่ได้เน้นแบบธรรมดาด้วย แต่เน้นมากกกกก จนถึงขั้นต้องออกแบบการเรียนให้มันสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก (ก็คือการเล่นนั่นเอง) เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้มากที่สุด ... จึงเป็นสิ่งที่เหมือนจะย้อนแย้งกันนิดนึง ... "เพราะเน้นวิชาการ...จึงต้องให้เล่น"

เมื่อถึงเวลาที่ต้องแก้โจทย์ที่โรงเรียนตั้งไว้เป็นการบ้านให้เราในฐานะนักประชาสัมพันธ์ ... ก็คิดวนไปค่ะ ... เดินไปมารอบๆ โรงเรียน หันไปทางไหนก็เจอแต่ป้ายที่สื่อสารว่าโรงเรียนเน้นการเล่นๆๆ ในเว็บไซต์ ใบปลิว สื่อทุกสื่อ ต้องมีคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับการเล่น ... ถึงวันเข้าประชุม สุดท้ายเราก็ได้โซลูชั่นที่มั่นใจว่าเด็ดมาก ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากสมองน้อยๆ ของนักสื่อสารมือใหม่อย่างเรา ณ ตอนนั้น ว่าถ้าทำวิธีนี้แล้วเวิร์คแน่นอน ก็เลยเสนอไปว่า... "เราต้องตัดคำว่าเล่นออกจากทุกสื่อที่โรงเรียนได้สื่อสารออกไปค่ะ!!!" พูดอย่างมั่นใจ "เพราะคำนี้แหล่ะ เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ภาพลักษณ์โรงเรียนผิดเพี้ยนไปมาก เราเห็นด้วยกับการสอนแบบนี้เป็นอย่างมาก แต่ในเมื่อยังมีคนที่ไม่เข้าใจ เราก็สอนของเราแบบนี้ต่อไป แต่เราแค่ไม่ต้องออกสื่อว่าเราให้เด็กเล่น เพื่อผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องเข้าใจผิดว่าเด็กมาเล่นไม่ได้มาเรียน... ดังนั้นเราต้องตัดคำว่าเล่นออกไปค่ะ " 555 ทำเหมือนการเล่นกลายเป็นผู้ร้ายไปซะงั้น ตอนนั้นไม่ได้กวนบาทาและไม่ได้เล่นมุขด้วย คือคิดจริงๆ จะว่าคิดแบบกำปั้นทุบดินก็ไม่ใช่ มันเป็นความคิดของคนที่ยังรู้ไม่มาก (หรือรู้น้อยนั่นเอง) ว่าแท้จริงแล้ว คำว่า "การเล่น" ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือคนที่ไม่เข้าใจมันมากกว่า ...

คำตอบที่ได้จาก ผอ. กลับมาคือ (ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแฝงไปด้วยความมุ่งมั่น) "เราจะตัดคำนี้ไม่ได้ค่ะ การเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ใช่เรื่องที่เราคิดขึ้นมาเอง รู้มั้ยว่านักวิชาการต่างชาติเค้าคิดค้นทฤษฎีนี้มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 มาแล้ว มันเป็นเรื่องที่เราต้องยืนหยัดในหลักการที่ดีอันนี้" เงิบบบบค่ะ โซลูชั่นที่คิดว่าเด็ดของเรา ถึงกับเงิบเลยทีเดียว แล้วตอนนั้นเพิ่งรู้ด้วยว่า อ้าววว โรงเรียนไม่ได้คิดขึ้นมาเองหรอกเหรอ นี่มันเป็นการเรียนที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการต่างชาติมานานแล้วหรออออ โอ้ววววว มาย ก๊อด แล้วทำไมฉันเพิ่งรู้.... นี่เราไปอยู่ที่ไหนกันมา ทำไมเราถึงคิดว่าการเรียนที่ดีคือการให้เด็กนั่งท่อง นั่งคัด กันมาตลอด

หลังจากกลับมารวบรวมสติใหม่ ... หัวหน้าให้โอกาสกลับมาคิดหาแนวทางอื่นๆ ต่อไปโดยมีเงื่อนไข "ไม่ตัดคำว่าเล่นออก" 555 แต่หลังจากนั้นงานก็ไม่ยากแล้ว เพราะเราได้รู้จักกับการเรียนในรูปแบบนี้อย่างถ่องแท้ แถมยังมีความเชื่อมั่นว่ามันมีที่มาที่ไปที่เชื่อถือได้ มันเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมานานแล้วเพียงแต่เราไม่เคยรู้จักกับมันมาก่อน และที่สำคัญเราก็เห็นด้วยตนเองแล้วว่ามันดีจริงๆ จากการเข้าไปฝังตัวในชั้นเรียนของเด็กๆ นี่จึงเป็นสิ่งที่เราควรบอกต่อโดยเร็วพลัน... หลังจากนั้นสื่อต่างๆ ของโรงเรียนก็ออกมาในแนวการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการ "เรียนรู้ผ่านการเล่น" ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ ท่านมีความเชื่อมั่นในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมากขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองบางท่านก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เบื่อที่จะตอบคำถามคนอื่นๆ ว่าทำไมถึงไม่ย้ายโรงเรียนให้ลูกสักที... ก็คงจะเบาใจมากขึ้น

ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายๆ คนเข้าใจแล้วว่า การเรียนรู้ผ่านการเล่นนั้นดีและมีประโยชน์มากมายมหาศาลอย่างไร คงไม่ได้เป็นเพราะการสื่อสารจากโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะหลายๆ สื่อก็หันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้กันมากขึ้น และที่สำคัญคือผลสัมฤทธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเป็นรูปธรรมทำให้ผู้ปกครองหลายๆ ท่านรับรู้ได้นั่นเอง

........

เด็กยิ่งเล่น ยิ่งฉลาดนะคะ

ยังมีเรื่องราวของโรงเรียนทางเลือกอีกมากมายที่อยากบอกเล่า ไว้จะทยอยเขียนมาให้อ่านกันอีกค่ะ ฝากติดตามด้วยนะคะ หรือติดตามเพจ ครูทางเลือก ได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ ขอบคุณค่าาา ^___^

Blogger Mayko

bottom of page